เทคนิคการถ่ายภาพในสตูดิโอ


  การจัดแสงในสตูดิโอ
  ประเภทของแสง
ปัจจัยที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของการถ่ายภาพ  คือ  แสง  ซึ่งในแสงธรรมชาติ  โลกเราได้รับแสงสว่างจากดวงอาทิตย์  จึงถือได้ว่าดวงอาทิตย์เป็นหลักและเป็นแสงที่ดีที่สุดในการถ่ายภาพ  โดยสามารถเลือกช่วงแสง  ตำแหน่งแสงในการถ่ายภาพได้ตามเวลาในการโคจรของดวงอาทิตย์  ดังนั้นการที่จะเป็นนักถ่ายภาพที่ดีนั้น  จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรู้จักเลือก  และกำหนดทิศทางของแสงได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

สำหรับแสงที่ให้ผลต่อการถ่ายภาพ  โดยทั่วไปได้แบ่งแสงที่ใช้ในการถ่ายภาพออกเป็น 2 ประเภทด้วยกัน  คือ
1.  แสงธรรมชาติ (Natural Light) ได้แก่  แสงสว่างจากดวงอาทิตย์หรือแสงแดด  นับว่าเป็นแหล่งกำเนิดแสงที่ให้สีสันถูกต้อง  สวยงาม  ตามธรรมชาติมากที่สุดในการถ่ายภาพ
2.  แสงประดิษฐ์ (Artificial Light) ได้แก่  แสงสว่างที่ได้จากหลอดไฟทุกชนิด  ตลอดจนถึงแสงที่เกิดจากสิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้น  เช่น 
                ก.  แสงจากหลอดไฟอิเล็คทรอนิค (Electronic flash)
                ข.  แสงจากหลอดไฟโฟโต  ฟลัค (Photoflood light)
                ค.  แสงจากหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ (Fluorescent)
                ง.  แสงอื่นๆ เช่น  แสงไฟจากตะเกียง  เทียนไข  เป็นต้น
ทิศทางของแสง
ทิศทางของแสงเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่ก่อให้เกิดผลแตกต่างแก่ภาพถ่ายได้อย่างเด่นชัด  ดังนั้นในการใช้หรือจัดแสง  ผู้ถ่ายภาพจึงจำเป็นต้องรู้เทคนิคและศิลปะของการจัดแสงสว่างในการถ่ายภาพ สำหรับเรื่องทิศทางของแสง  สมาน  เฉตระการ ได้แบ่งทิศทางของแสงตามแนวการส่องสว่างได้เป็น 2 ทางด้วยกัน  คือ
       1.  ทิศทางตามแนวราบหรือแนวนอน  (Horizontal Light Placement) แสงตามแนวนอนนี้มีทิศทางและมุมในการส่องสว่างต่างกันดังนี้
1.1  แสงด้านหน้า (Front Light) ได้แก่  แสงที่ส่องมาจากทางด้านหน้าของวัตถุที่
จะถ่ายภาพมาจากทิศทางเดียวกันกับกล้องถ่ายภาพ  แสงทางด้านหน้าช่วยให้เกิดประกายสะท้อนบนวัตถุนั้นๆ ด้วย  โดยเฉพาะวัตถุที่มีผิวเรียบหรือมันและจะได้ภาพถ่ายที่เห็นชัดเจน  นักถ่ายภาพที่เริ่มหัดถ่ายภาพมักชอบถ่ายภาพสิ่งต่างๆ ด้วยแสงทางด้านหน้า  แต่แสงชนิดนี้จะทำให้วัตถุได้รับแสงทั่วด้านหน้าตัววัตถุซึ่งจะไม่มีเงาทำให้ภาพที่ได้แบน  ไม่มีความลึกของภาพ  เหมาะกับการถ่ายภาพที่ต้องการให้เห็นวัตถุเรียบและแบน
1.2  แสงด้านข้าง (Side Light) ได้แก่  แสงที่ส่องทางด้านข้างของวัตถุที่จะถ่าย 
ทำมุม 90° กับตำแหน่งกล้อง  ทั้งด้านซ้ายมือและด้านขวามือ  การให้แสงด้านข้างทำให้วัตถุได้รับแสงสว่างจัดตัดกับอีกข้างที่เป็นเงาเข้ม  ทำให้เห็นวัตถุที่ถ่ายมีมิติเห็นลายพื้นผิวของวัตถุชัดเจน  แต่แสงจากด้านข้างแม้จะมีจุดเด่นในด้านการแสดงรูปทรงของวัตถุได้ดี  แต่รายละเอียดของภาพโดยรวมก็จะเสียไปด้วยเช่นกัน  โดยเฉพาะหากเป็นแสงที่แรงจัดซึ่งจะทำให้ภาพมีส่วนมืดกับส่วนสว่างที่ตัดกันมาก  ซึ่งเรามักเรียกภาพในลักษณะนี้ว่า  มีคอนทราสต์สูง
1.3  แสงด้านหลัง (Back Light) ได้แก่  แสงที่ส่องมาจากด้านหลังของวัตถุที่จะถ่าย 
อยู่ตรงข้ามกับกล้องถ่ายภาพ  ถ้าฉากหลังเป็นสีขาวจะได้ภาพถ่ายของวัตถุเป็นภาพเงาดำบนพื้น
สีขาวและถ้าฉากหลังเป็นสีดำเข้มจะได้ภาพถ่ายของวัตถุเป็นภาพเงาดำที่มีแสงสว่างจับตามขอบรอบๆ วัตถุ  ทำให้มองเห็นวัตถุแยกออกจากพื้นฉากชัดเจน
1.4  แสงเฉียงหน้า (Semi-Back Light) ได้แก่  แสงที่ส่องเป็นมุมเฉียงทางด้านหน้า
ของวัตถุทั้งทางด้านซ้ายหรือทางด้านขวา  การจัดแสงให้แสงเฉียงด้านหน้าจะให้ความกลมกลืนของแสงกับเงาได้เป็นอย่างดี  เหมาะกับการถ่ายภาพวัตถุรูปทรงกลม
1.5  แสงเฉียงหลัง (Semi-Back Light) ได้แก่  แสงที่ส่องเป็นมุมเฉียงทางด้านหลัง
ของวัตถุทั้งด้านซ้ายหรือด้านขวา  การจัดแสงให้แสงเฉียงด้านหลังจะช่วยเน้นรูปทรงของวัตถุที่จะถ่ายให้เห็นเด่นแยกออกจากพื้นหลังได้เป็นอย่างดี
       2.  ทิศทางแสงด้านตั้ง (Vertical Light Placement) ทิศทางของแสงแนวตั้งเป็นทิศทางแสงที่มาจากตำแหน่งโดยรอบของวัตถุที่จะถ่าย  แต่เป็นทิศทางจากตำแหน่งด้านบน  ด้านล่าง  ด้านหน้า  ด้านหลัง  เฉียงหน้าส่วนบนและล่าง  เฉียงหลังส่วนบนและล่าง  ภาพถ่ายที่ปรากฏออกมาจากการให้แสงตามตำแหน่งทิศทางต่างๆ ตามแนวตั้ง  จะให้ผลของแสงและเงาในวัตถุที่ถ่ายเหมือนกับการให้แสงตามตำแหน่งทิศทางตามแนวราบ
 การจัดแสงในสตูดิโอ
                การถ่ายภาพในสตูดิโอถ่ายภาพส่วนมากมักใช้ถ่ายภาพบุคคล  วัตถุสิ่งของเพื่อการโฆษณา  จำเป็นต้องใช้แสงประดิษฐ์ช่วยให้ความสว่าง  การจัดแสงในสตูดิโอถ่ายภาพนั้นอาจจะใช้ไฟดวงเดียวหรือหลายดวงก็ได้  ทั้งนี้เพื่อให้ภาพได้รับแสงเงาที่สวยงามและตรงกับจุดมุ่งหมาย  การจัดแสงในการถ่ายภาพมีลักษณะดังนี้ 
                       1.  การใช้ไฟหลัก (Main Light หรือ Key Light) เป็นการจัดไฟให้แสงฉายตรงไปยังวัตถุ  ทำให้เห็นส่วนต่างๆ ของวัตถุอย่างชัดเจน  แต่จะได้ภาพที่มีลักษณะแบน  ทิศทางของแสงไฟหลักนี้หากวางได้อย่างเหมาะสมแล้วจะได้ภาพที่มีแสงเงาสวยงามอีกแบบหนึ่ง
                       2.  การใช้ไฟสองดวง  ได้แก่  การใช้ไฟหลักและไฟลบเงา (Fill-in Light) ไฟลดเงานี้จะช่วยเพิ่มความสว่างให้กับส่วนที่เป็นเงาซึ่งเกิดจากไฟหลัก  เป็นการช่วยลดเงาดำให้จางลง  โดยทั่วๆ ไป  การตั้งไฟหลักจะตั้งไฟหลักในตำแหน่งเฉียงหน้าขวา  ทำมุม 45°  ส่วนไฟลดเงาตั้งในตำแหน่งเฉียงหน้าซ้าย  ความสว่างของไฟลดเงาควรน้อยกว่าไฟหลักในอัตราส่วน 1 : 2  การลดความสว่างของหลอดไฟลดเงาอาจทำได้โดยการลดแสงที่หลอด  การใช้ผ้าขาว  กระดาษแก้วหุ้มเพื่อกรองแสงหรือให้สะท้อนจากแผ่นสะท้อนแสง (Reflector) ก่อนก็ได้
                       3.  การใช้ไฟสามดวง  ได้แก่การใช้ไฟหลัก  ไฟลบเงา  และไฟส่องหลัง (Back Light) สำหรับไฟส่องหลังจะวางอยู่ในตำแหน่งด้านหลังของวัตถุ  ตั้งให้สูงเล็กน้อยบีบลำแสงให้เป็นจุดดวง  ส่องตรงไปด้านหลังของวัตถุ  จะช่วยเน้นรูปทรงของวัตถุให้เห็นเด่นชัดขึ้น
                       4.  การใช้ไฟสี่ดวง ได้แก่  การใช้ไฟหลัก  ไฟลบเงา  ไฟส่องหลัง  และไฟส่องผม (Hair Light) ในกรณีที่ถ่ายภาพบุคคล  อาจใช้ไฟเพื่อเน้นเส้นผมให้มีประกายสวยแวววาวขึ้น  ไฟส่องผมจะตั้งในตำแหน่งเฉียงหลัง  ตั้งให้สูง  บีบลำแสงส่องไปยังเส้นผมของแบบ
                       5.  การใช้ไฟห้าดวง  ได้แก่  การใช้ไฟหลัก  ไฟลบเงา  ไฟส่องหลัง  ไฟส่องผม  และไฟส่องพื้นหลัง (Background Light) สำหรับไฟส่องหลังจะช่วยให้เกิดความสว่างที่บริเวณส่วนหลังของภาพทำให้เห็นส่วนประกอบต่างๆ ของฉากได้ชัดเจนยิ่งขึ้น  และยังเป็นการแยกวัตถุที่ถ่ายออกจากฉากหลังทำให้เห็นวัตถุอย่างชัดเจน
เทคนิคการถ่ายภาพในสตูดิโอ
                เทคนิคการถ่ายภาพวัตถุนิ่งในห้องสตูดิโอ  ใช้หลักพื้นฐานเดียวกับการถ่ายภาพบุคคล  เพียงแต่ลักษณะการวางวัตถุมีการกระจายตัวมากกว่าการถ่ายภาพบุคคล
                หลักในการจัดแสงเพื่อถ่ายภาพวัตถุนิ่งในห้องสตูดิโอ  มีดังต่อไปนี้  คือ
                1.  กำหนดวัตถุประสงค์ของการถ่ายภาพวัตถุนั้น  มุ่งไปที่การแสดงวัตถุเพียงอย่างเดียว  หรือ ความคิดเดียว  คิดพิจารณาและตัดสินใจว่าต้องการแสดงให้เห็นอะไร
                2.  พยายามถ่ายทอดความคิดออกมาเป็นภาพ  นักถ่ายภาพบางคนกำหนดลักษณะการจัดภาพไว้ใน สมองแล้วจึงร่างภาพเอาไว้  บางคนก็อาจคิดและทดลองจัดสิ่งของในห้องสตูดิโอเลยที
เดียว  โดยไม่เคร่งครัดในการทำงานมากนัก
                3.  จัดเตรียมวัตถุและสิ่งประกอบฉากทั้งหมดที่จะถ่าย  สิ่งประกอบฉากควรเหมาะสมและจะเป็นการดียิ่งขึ้น  ถ้าจัดเตรียมสิ่งประกอบฉากมามากๆ แล้วนำมาเลือกจัดถ่ายในห้องสตูดิโอ
                4.  เมื่อได้สิ่งของมาครบแล้ว  จึงลงมือจัดถ่าย  โดยเริ่มที่การจัดพื้นและฉากหลังว่าจะจัดให้ฉากหลังสัมพันธ์กลมกลืนกับวัตถุหรือจะแยกฉากหลังออกจากวัตถุ  จะเน้นที่สีหรือผิวพื้นแล้วจึงจัดพื้นและฉากหลังด้วยวัสดุต่างๆ ตามที่ได้วางแผนไว้  เช่นใช้แผ่นไม้กระดาน  แผ่นพลาสติก  ผ้ากำมะหยี่  หรือกระดาษรองพื้น
                5.  ในขั้นนี้เริ่มจัดวางวัตถุที่จะถ่าย  หากมีวัตถุที่เป็นหลักอยู่ในกลุ่ม  ควรเริ่มด้วยการวางวัตถุนั้นก่อน  แล้วจึงวางสิ่งประกอบฉากอย่างอื่น  ตรวจสอบดูผลของภาพโดยดูในช่องมองภาพ  สังเกตดูสัดส่วน  ลวดลาย  หรือเส้นสายให้น่าสนใจ  พยายามจัดให้วัตถุหลักเด่นออกมาจากกลุ่ม  โดยจัดให้ส่วนประกอบอื่นๆ มีความสำคัญรองลงมา  ใช้สีที่กลมกลืนกันหรือตัดกันเพื่อสร้างผลที่ต้องการ
                6.  จัดแสงดวงไฟถ่ายภาพ  การจัดแสงถ่ายภาพนิ่งนี้จะขึ้นอยู่กับวัตถุที่นำมาจัดถ่ายและขึ้นอยู่กับรสนิยมของนักถ่ายภาพแต่ละคน  แต่ก็ยังคงอาศัยหลักการเดียวกับการจัดไฟถ่ายภาพบุคคลที่ว่าแสงหลักจะมีเพียงดวงเดียว  และมีไฟดวงอื่นๆ เป็นไฟเสริม  ไฟแยกและไฟส่องฉากหลังตามความเหมาะสม
                7.  เมื่อจัดแสงจนพอใจแล้ว  จึงทำการวัดแสงเฉลี่ย  เพื่อนำไปตั้งค่าฉายแสงที่กล้อง  เสร็จแล้วจึงลงมือถ่ายภาพ  อย่าลืมถ่ายเผื่อไว้บ้าง  โดยถ่ายให้ over หรือ under จากค่าที่วัดได้ ½ - 1 สต๊อป  นำมาเลือกภาพที่ดีที่สุดภายหลัง  เพราะการจัดถ่ายแต่ละครั้งต้องอาศัยวัสดุ  อุปกรณ์  และเวลาในการจัดแสงมาก  หากมีความผิดพลาดเรื่องค่าการฉายแสง  และต้องถ่ายใหม่ก็จะเป็นการสิ้นเปลืองเวลา  แรงงาน  และงบประมาณมาก