การถ่ายภาพ

ความหมายของการถ่ายภาพ
                คำว่าภาพถ่ายในภาษาอังกฤษคือ Photography มาจากภาษากรีกโบราณ 2 คำคือโฟโต้ (photo) หมายถึง แสง และ กราฟ (graph) หมายถึง การวาด ภาพถ่ายจึงหมายถึงการวาดภาพด้วยแสง " writing with light " ความหมายทางวิชาการถ่ายภาพในปัจจุบันหมายถึงความรู้ว่าด้วยการผลิตภาพถ่ายหรือการถ่ายภาพ หรือกระบวนการใดๆ ที่ทำให้เกิดภาพถ่ายที่ถาวรขึ้นบนวัสดุไวแสง ด้วยการทำให้วัสดุไวแสงนั้นถูกแสงสว่างหรือถูกรังสีอัลตราไวโอเลต รังสีในสเปกตรัมและรังสีอินฟราเรดที่คนมองไม่เห็น การถ่ายภาพจึงเป็นกระบวนการทางเคมีที่เกิดจากการที่แสงตกกระทบบนพื้นผิวที่มีการเตรียมไว้เป็นพิเศษด้วยสารไวแสง เป็นกระบวนการสร้างภาพด้วยแสงบันทึกลงบนวัสดุที่เคลือบผิวหน้าด้วยวัตถุไวแสง เมื่อนำไปผ่านกระบวนการทางฟิสิกส์และเคมีจะได้ภาพถ่ายที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเกิดเป็นภาพปรากฏบนวัสดุนั้น
             
ภาพถ่ายตามความหมายของการสื่อสาร (กมล ฉายาวัฒนะ, 2544, หน้า 549-613)คือสื่อกลางของการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึก ทัศนคติ ความรู้ ประสบการณ์ของกระบวนการสื่อสาร ระหว่างผู้ส่งและผู้รับสื่อ สามารถเลือกใช้สื่อเพื่อการติดต่อสื่อสารได้หลายสื่อ เช่น การพูดการเขียน และภาพถ่ายถือเป็นสื่อหนึ่งที่ทำหน้าที่คล้ายสื่ออื่นๆ ในกระบวนการสื่อสาร
                วิชาการถ่ายภาพจึงเป็นศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับกระบวนการผลิตภาพ โดยอาศัยกล้องถ่ายภาพวัสดุไวแสงและแสงสว่าง ส่วนการที่จะทำให้ภาพถ่ายมีคุณภาพดีมีความสวยงามก็ต้องอาศัยหลักการในการถ่ายภาพ ความรู้ทางด้านศิลปะ การจัดองค์ประกอบ แสง สี มีความรู้และทักษะการใช้กล้องถ่ายภาพอุปกรณ์ประกอบต่างๆ ตลอดจนฟิล์ม กระดาษอัดภาพ น้ำยาที่ใช้ในกระบวนการล้างฟิล์มและอัดขยายภาพ  การเก็บภาพเริ่มด้วยการมองเห็นด้วยตา กล้องถ่ายภาพเป็นอุปกรณ์ที่จะบันทึกการเห็นให้เป็นภาพอย่างถาวร การมองเห็นของดวงตาและการเกิดภาพในกล้องถ่ายภาพมีลักษณะคล้ายกัน ดวงตามีแก้วตาส่วนในกล้องถ่ายรูปมีเลนส์ทำหน้าที่หักเหแสงที่มากระทบให้ไปตกลงที่ฉากหลัง ในดวงตามีม่านตา(Iris) สำหรับกำกับแสงให้ผ่านเข้าในปริมาณที่แตกต่างกัน กล้องก็มีช่องรับแสง (Diaphragm) สำหรับทำหน้าที่รับแสงเช่นเดียวกับม่านตาทำให้มีลักษณะการเห็นที่เหมือนกัน สรุปได้ว่าการเห็นจะต้องเกิดจาก
แสงเป็นตัวนำวัตถุนั้นๆ เข้ามากระทบแก้วตาหรือเลนส์ซึ่งโปร่งแสงยอมให้แสงผ่านไปได้แสงที่ผ่านต่อไปต้องไม่มีแสงอื่นมารบกวนจึงจะปรากฏภาพที่ชัดเจนนั่นคือ ห้องมืดในลูกตาหรือห้องมืดในตัวกล้อง
แสดงส่วนประกอบของดวงตา
การเกิดภาพในกล้องถ่ายภาพ


 เมื่อ 20,000 ปีมาแล้ว มนุษย์ได้วาดภาพไว้บนผนังถ้ำเป็นรูป คน สัตว์ สิ่งของที่มีอยู่ในยุคนั้น หรือภาพเขียนที่ศิลปินที่มีชื่อเสียงอย่าง เลโอนาร์โด ดาวินชิ (Leonardo Da Vinci)ได้เขียนขึ้นล้วนเป็นความพยายามของมนุษย์ที่จะบันทึกสิ่งที่ตนเองมองเห็นให้ผู้อื่นได้เห็นศิลปินมีบทบาทในการใช้ทักษะและความสามารถทางศิลปะสร้างผลงานโดยใช้ทฤษฎีลอกเลียนแบบ(Imaginationalistic Theory) เพื่อนำเสนอเรื่องราวที่เกิดขึ้นแสดงให้ผู้อื่นรับรู้ทั้งด้านเรื่องราวและองค์ประกอบที่สวยงามโดยใช้เวลาอันยาวนานในการสร้างสรรค์ผลงาน
ปัจจุบันภาพถ่ายมีบทบาทในการสื่อความหมายได้ในเวลาอันสั้น แสดงออกถึงความงามในงานทางทัศนศิลป์ เช่นภาพถ่ายบันทึกความทรงจำในโอกาสไปพักผ่อน งานวันเกิดงานแต่งงาน ภาพถ่ายในหนังสือพิมพ์ นิตยสาร ภาพถ่ายที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวสินค้าหรือบริการต่างๆ ภาพถ่ายสามารถบันทึกสิ่งที่เกินขอบเขตแห่งการมองเห็นของคน เช่น ภาพขยายของจุลินทรีย์ เชื้อรา ส่วนละเอียดบนตัวของแมลง กล้องถ่ายภาพก็ยังสามารถใช้ได้ในที่ที่อาจจะเป็นอันตรายต่อมนุษย์โดยการเพิ่มระยะทางยาวโฟกัสของเลนส์ เพื่อให้ได้เห็นสิ่งที่ต้องการอย่างชัดเจนเช่น การถ่ายภาพบริเวณปล่องภูเขาไฟหรือสิ่งที่อยู่ไกลเกินกว่าที่จะมองเห็นด้วยสายตา เช่น กลุ่มดาวบนท้องฟ้า
กล้องถ่ายภาพเกิดจากแนวคิดที่ได้จากปรากฏการณ์ธรรมชาติของคนที่อยู่ในห้องมืดสนิทภายนอกมีแสงสว่างมากที่ผนังมีช่องขนาดเล็ก แสงจะส่องเข้ามาในห้องตามช่องที่ผนังห้องแล้วกระจายออกไปกระทบฝาห้องด้านตรงข้าม นำเอาภาพข้างนอกมาปรากฏที่ผนังห้องด้านตรงข้ามเป็นภาพกลับหัวและได้มีการนำขบวนการนี้มาพัฒนาใช้ทำเป็นกล้องถ่ายภาพตามที่อาริสโตเติล (Aristotle) นักวิทยาศาสตร์ชาวกรีกได้บันทึกไว้เป็นครั้งแรกเมื่อ 400 ปีก่อนคริสต์ศักราชว่า " ถ้าเราปล่อยให้ลำแสงผ่านเข้าไปทางรูเล็กๆ ในห้องมืดแล้วถือกระดาษขาว ให้ห่างจากรูรับแสงประมาณ 15 เซนติเมตร จะปรากฏภาพบนกระดาษขาวนั้นเป็นภาพหัวกลับแต่ไม่ค่อยชัดเจนนัก "
ภาพถ่ายมีพื้นฐานอยู่บนความคิดที่เป็นเทคนิคอย่างหนึ่งทางศิลปะที่รู้จักกันในลักษณะของทัศนียภาพเชิงเส้น (Linear perspective) ซึ่งพัฒนามาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 14 ผู้ริเริ่มคือสถาปนิกชาวอิตาลีชื่อฟิลิปโป บรูเนลเลสคิ ( Filippo Brunelleschi ) สร้างระบบของจุดรวมสายตา(Vanishing point) ที่จะทำให้เกิดลักษณะของภาพที่ดูเป็นสามมิติบนระนาบแบนๆได้
ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ศิลปินหลายคนใช้กล้องที่เรียกว่ากล้องออบสคิวร่า (Cameraobscura) เป็นเครื่องมือช่วยในการเขียนภาพให้มีระยะลึก ลักษณะเป็นกล่องมีรูขนาดเล็กด้านหนึ่งและอีกด้านหนึ่งเป็นกระจกรับภาพ มนุษย์เรียนรู้เรื่องของแสงที่แปรเปลี่ยนไปตามวัสดุและสภาพแสงมาก่อนการคิดค้นกล้องถ่ายภาพจากกล้องออบสคิวล่าก็ได้มีการคิดค้นกล้องถ่ายภาพให้มีรูปแบบและการใช้งานที่สะดวกขึ้น เลนส์มีชิ้นของเลนส์หลายชิ้นทำหน้าที่ในการหักเหแสงได้มากขึ้นมีการเคลือบน้ำยาบนผิวหน้าของแก้วเลนส์ให้มีคุณภาพรับแสงได้มากขึ้นและช่วยลดแสงสะท้อนให้น้อยลง ฟิล์มเป็นวัตถุประเภทโปร่งแสง คือ เซลลูลอยด์ ( celluloid ) แทนกระดาษ กระบวนการถ่ายภาพได้พัฒนาไปสู่การค้นพบอื่นๆ อีกหลายอย่างเช่น การถ่ายภาพการบินของนก การเคลื่อนไหวของคนและการทำงานของดวงตามนุษย์ ทำให้เกิดพัฒนาการบินของเครื่องบินและภาพยนตร์
ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 การถ่ายภาพบุคคลไม่ได้ราคาถูกไปกว่าการวาดภาพด้วยมือเพียงแต่ใช้เวลาในการนั่งเป็นแบบน้อยกว่าและให้ลักษณะของบุคคลนั้นได้ถูกต้องกว่า ดังนั้นจึงเริ่มนิยมการถ่ายภาพมากกว่าการนั่งเป็นแบบให้วาดภาพ แต่ภาพถ่ายก็ได้พัฒนารูปแบบไปให้มีลักษณะงานที่ออกมาดูแล้วคล้ายกับภาพวาดมีการใช้แสงไฟช่วยในการถ่ายภาพ ในคริสต์ศตวรรษที่20 การถ่ายภาพก็มีบทบาท ในธุรกิจโฆษณาอย่างเต็มที่ การถ่ายภาพเป็นเครื่องมือที่สามารถดึงเอาคุณสมบบัติของสินค้าให้ปรากฏออกมาได้ เป็นการทำงานที่ผสมระหว่างธุรกิจและงานศิลปะ
ภาพถ่ายมีบทบาทและความสำคัญต่องานนิเทศศิลป์ได้แก่ งานเผยแพร่ประชาสัมพันธ์และสื่อโฆษณาทั้งหลาย เพราะเป็นงานที่ต้องการสื่อความหมายด้วยภาพประกอบกับตัวหนังสือเพื่อให้ผู้รับสื่อได้เข้าใจจุดมุ่งหมายและวัตถุประสงค์ของสื่อแต่ละตัวนั้นว่าต้องการให้ทราบเรื่องราวเข้าใจในรายละเอียดหรือต้องการขายสินค้าที่มีคุณสมบัติเช่นไร ภาพประกอบจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้เข้าใจได้กระจ่างชัดและตรงกับเป้าหมายมากที่สุด จึงควรที่จะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับภาพถ่ายเพื่อที่จะได้นำไปใช้ในการสื่อความหมายได้อย่างถูกต้องเหมาะสม และส่งเสริมให้งานด้านนิเทศศิลป์มีคุณค่าและสื่อสารได้ตรงจุดมุ่งหมายมากขึ้น
การถ่ายภาพแฟชั่นพัฒนามาจากการถ่ายภาพในหนังสือนิตยสารโดยการถ่ายภาพเป็นแบบงานศิลปะ ใช้การจัดแสงเพื่อให้ภาพดูสวยงามขึ้นและพัฒนาสู่การใช้ภาพถ่ายเพื่อการโฆษณาเพิ่มมากขึ้นเช่น รูปภาพแค็ตตาล็อกสินค้า (catalog picture) เพื่อนำเสนอสินค้าให้ดูน่าใช้
ศิลปะแห่งการถ่ายภาพในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ได้อิทธิพลจากการถ่ายภาพงานโฆษณางานจิตรกรรมและงานประติมากรรมในยุโรป เกิดรูปแบบใหม่ของการถ่ายภาพแบบแนวใหม่เห็นมุมมองใหม่ “New Vision” ทำให้เห็นว่าภาพถ่ายนั้นมีพลังแห่งวัฒนธรรม ภาพถ่ายจึงเข้าไปมีบทบาทในงานศิลปะ วรรณกรรม ภาพยนตร์แม้แต่ในงานจิตรกรรมและประติมากรรม
การถ่ายภาพแสดงให้เห็นถึงการนำเอาศาสตร์ทางศิลปะและเทคนิคของการสร้างสรรค์ภาพมาผสมผสานเข้าด้วยกัน การถ่ายภาพเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตในปัจจุบัน เช่น ภาพถ่ายบันทึกความทรงจำ ภาพถ่ายของครอบครัว ภาพข่าวหนังสือพิมพ์ ภาพถ่ายติดบัตร ภาพถ่ายประเภทสวยงาม ( glamorization) ภาพถ่ายการท่องเที่ยว ภาพถ่ายในอวกาศหรือทางด้านวิทยาศาสตร์เช่น กล้องขนาดเล็กที่เข้าไปถ่ายภาพภายในร่างกายของมนุษย์ ภาพถ่ายแสดงการเคลื่อนไหวของคนที่เปลี่ยนท่าทางต่างๆ ภาพโฆษณาในหน้านิตยสาร แค็ตตาล็อก ภาพแฟชั่น ผลิตภัณฑ์หรือ ภาพถ่ายงานสถาปัตยกรรม และกล้องถ่ายภาพก็พัฒนาไปตามความเจริญของระบบอุตสาหกรรม ความนิยมในสังคม สภาพเศรษฐกิจและวัฒนธรรม

   
ขอบข่ายและความสำคัญของการถ่ายภาพในงานนิเทศศิลป์
ตั้งแต่ปี ค..1839 ภาพถ่ายเป็นตัวบันทึกรายละเอียดต่างๆ ของคนที่ชอบเห็นสิ่งต่างๆด้วยตาของตนเอง แต่เมื่อไม่สามารถเก็บเป็นภาพที่ถาวรได้กล้องก็ช่วยบันทึกสิ่งเหล่านั้นให้เป็นภาพแทนและเป็นตัวสื่อสารผ่านทางสื่อของการมองเห็น ภาพถ่ายเป็นสื่อช่วยในการสร้างงานสื่อสารมวลชนที่เราเห็นโดยทั่วๆ ไป เช่น หนังสือ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร แค็ตตาล็อกสินค้า แผ่นพับหรือป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ โปสเตอร์ สื่อโฆษณาทางโทรทัศน์ บางครั้งใช้ภาพถ่ายเล่าเรื่องการเดินทางหรือการค้นพบ เช่น ได้เห็นพื้นผิวของดวงจันทร์ ดาวอังคาร หรือค้นพบดวงดาวในระบบสุริยะ ภาพถ่ายมักใช้กับงานโฆษณาในระบบอุตสาหกรรมในการขายสินค้า ใช้ในการฝึกอบรมหรืองานบริการต่างๆ ในงานด้านการปกครองการประชุม สามารถใช้ภาพในการ โฆษณาจูงใจหรือนำเสนอข้อเท็จจริงต่างๆ ของสินค้าได้เป็นอย่างดี
ภาพถ่ายอาจจะใช้สำหรับการสื่อความหมายกับชุมชนกลุ่มใหญ่ได้ไม่ว่าจะเป็นในสถานที่ราชการ การประชุมและงานสำคัญๆ ใช้การนำเสนองานโดยอาศัยภาพถ่ายเพื่อการชักชวนอธิบายหรือทำให้เห็นข้อเท็จจริงอันจะนำไปสู่การดำเนินการบริหาร ออกกฎหมายต่างๆ หรือเป็นหลักฐานบางอย่างได้ เช่น ภาพถ่ายจากนักข่าวที่ทำให้เห็นข้อเท็จจริงบางอย่างในเหตุการณ์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภาพถ่ายช่วยในการทำแผนที่ผังระดับเพื่อศึกษาพื้นดินและพื้นน้ำช่วยให้รู้ถึงสภาพอากาศ กล้องในดาวเทียมสามารถจับภาพ โลก ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ และดาวอื่นๆ ในวิชาดาราศาสตร์ก็ใช้ภาพเหล่านี้ศึกษากาแลคซี่ อวกาศ ตำแหน่งของดวงดาว ในงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ภาพถ่ายก็ช่วยได้ เช่น วัตถุเล็กมากจนไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาก็จะถูกบันทึกด้วยกล้องไมโครสโคป (Microscope) หรือใช้ไฟแฟลชอิเล็กทรอนิกที่มีความเร็วพิเศษ
ช่วยให้สามารถบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วที่ตาไม่สามารถมองเห็นได้ทันให้เราเห็นได้
ภาพถ่ายเป็นสื่อช่วยในการสร้างงานสื่อสารมวลชนที่เราเห็นโดยทั่วๆไป เช่น หนังสือหนังสือพิมพ์ นิตยสาร แค็ตตาล็อกสินค้า แผ่นพับต่างๆหรือป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ โปสเตอร์สื่อ โฆษณาทางโทรทัศน์ บางครั้งใช้ภาพถ่ายเล่าเรื่องการเดินทางหรือการค้นพบ เช่น ได้เห็นพื้นผิว ของดวงจันทร์ ดาวอังคาร หรือค้นพบดวงดาวในระบบสุริยะ ภาพถ่ายมักใช้กับงานโฆษณา ในการขายสินค้า ใช้ในการฝึกอบรมหรืองานบริการต่างๆ ในงานด้านการปกครองการประชุมสามารถใช้ภาพในการโฆษณาจูงใจ หรือนำเสนอข้อเท็จจริง ต่างๆ ของสินค้า
งานนิเทศศิลป์มีความหมายถึงงานที่เกี่ยวข้องกับการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารต่างๆ รวมทั้งงานโฆษณา การมีภาพประกอบช่วยสื่อความหมายให้ข่าวสารที่ต้องการเผยแพร่นั้นสามารถสื่อสารได้ตรงกับจุดมุ่งหมายของผู้สร้างสรรค์สื่อได้เป็นอย่างดี ภาพถ่ายที่นำมาใช้ประกอบกับสื่อต่างๆ เพื่องานประชาสัมพันธ์หรืองานโฆษณาจึงจำเป็นต้องมีคุณลักษณะเนื้อหาเรื่องราวตรงตามแนวคิดของผู้สร้างงาน สามารถจัดวางสอดคล้องไปกับข้อความหรือช่วยส่งเสริมให้งานเผยแพร่นั้นมีความน่าสนใจมากขึ้น เนื่องจากภาพถ่ายมีเนื้อหาสาระปรากฏอยู่ในภาพจึงทำหน้าที่สื่อสารให้ผู้ดูสามารถเข้าใจในสาระนั้นๆ ได้ดังนี้
1. ถ่ายทอดความเหมือนจริง เนื่องจากถ่ายภาพจากสิ่งที่มีอยู่จริงสภาพแสงและมุมกล้องช่วยทำให้ภาพเหมือนจริงได้ตามสภาพแสง
2. ถ่ายทอดรายละเอียดได้ครบถ้วนเท่าที่ต้องการด้วยคุณภาพของกล้องและเลนส์
3. ภาพถ่ายตรึงความเคลื่อนไหวให้หยุดนิ่งได้ทำให้เห็นลักษณะการเคลื่อนไหวนั้น
4. ภาพถ่ายสามารถบันทึกเหตุการณ์ไว้ได้อย่างถาวร จึงมีประโยชน์ต่อการสื่อสารช่วย ให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสิ่งของผู้คนสถานที่หรือเหตุการณ์ต่างๆ แม้แต่ภาพถ่ายประกอบหลักฐานสำคัญของทางราชการ เช่นภาพถ่ายติดบัตร ประชาชน ใบขับขี่ ภาพถ่ายยังบอกเรื่องราวให้ข้อเท็จจริงถ่ายทอดความสวยงาม สร้างอารมณ์ ความรู้สึกต่อผู้ดูได้

คุณภาพของภาพถ่าย
ภาพของสินค้าต้องมีลักษณะที่สมบูรณ์ สีและขนาดน่าสนใจ ไม่มีการผิดเพี้ยนขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ คือ
1. เทคนิคในการถ่ายภาพมีส่วนช่วยให้ภาพโฆษณาดีขึ้น ภาพถ่ายที่สวยงามด้วยแสงเงาและองค์ประกอบที่ดี ย่อมดึงดูดความสนใจของผู้พบเห็นได้เป็นอันดับแรก
2. การให้ได้มาซึ่งภาพถ่ายที่มีคุณภาพต้องเลือกอุปกรณ์ที่เหมาะสม การเลือกใช้กล้องถ่ายภาพ เลนส์และอุปกรณ์เสริมที่ช่วยทำให้ภาพถ่ายเกิดความน่าสนใจมากขึ้น
3. การเลือกสถานที่ตามแนวคิดของผู้ทำโฆษณา อาจเป็นภาพถ่ายเฉพาะตัวสินค้าวิธีการใช้สินค้า เรื่องราวที่แวดล้อมตัวสินค้าโดยการจัดฉากในห้องถ่ายภาพหรือถ่ายภาพนอกสถานที่ในเวลาต่างๆ หรือคุณลักษณะที่ต้องการเน้น มีการใช้อุปกรณ์เพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความสวยงามการจัดแสงให้มีความน่าสนใจ เน้นการถ่ายภาพระยะใกล้เห็นตัวสินค้าชัดเจนสัดส่วนถูกต้อง
4. การนำภาพถ่ายไปใช้เพื่อทำสื่อชนิดต่างๆ เช่น แผ่นพับขนาดเล็ก โปสเตอร์โฆษณาในหน้านิตยสาร หนังสือพิมพ์หรือป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ เงื่อนไขเหล่านี้ทำให้สามารถกำหนดได้ว่าจะเลือกใช้กล้อง ฟิล์มหรืออุปกรณ์ใดจึงจะเหมาะสม

คุณค่าของภาพถ่ายที่ใช้ในงานนิเทศศิลป์
นักถ่ายภาพเพื่องานโฆษณาควรต้องเป็นผู้สร้างจินตนาการให้ได้งานที่มีคุณค่าทางความงามภาพโฆษณาแต่ละชิ้นสร้างภาพมาจากจินตนาการ ใช้เทคนิคและความรู้ในการสร้างภาพให้สามารถตอบสนองต่อกระบวนการผลิตได้ เปรียบเป็นจุดพบกันระหว่างวิทยาศาสตร์และศิลปะวิธีการหนึ่งที่จะพัฒนาเทคนิคให้มีคุณค่าในทางความงามก็คือศึกษาจากงานที่สร้างแบบร่างไว้เข้าใจในความหมายและความคิดรวบยอด (concept) ของงานก่อนการถ่ายภาพ นักถ่ายภาพจำเป็นที่จะต้องทราบทั้งเทคนิคและศิลปะการถ่ายภาพควบคู่กันไป การใช้ภาพถ่ายในงานนิเทศศิลป์จะต้องเป็นภาพที่สามารถสื่อสารให้กับผู้รับสื่อได้เป็นอย่างดี ช่วยให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพโดยมีองค์ประกอบต่างๆ ที่สำคัญคือ
1. เรื่องราวของภาพ (Story)
ภาพถ่ายที่ดีจะต้องมีเรื่องราวของภาพที่เมื่อดูแล้วเข้าใจ แสดงถึงสถานการณ์เหตุการณ์ตอนใดตอนหนึ่งได้ มีความหมายที่แสดงออกในภาพถ่ายหรือชื่อภาพเกี่ยวกับเรื่องราวที่มองเห็นเช่น เรื่องราวเกี่ยวกับธรรมชาติแสดงให้เห็นความเบิกบานทำให้จิตใจเป็นสุข เรื่องราวเกี่ยวกับความเชื่อและศาสนา เกี่ยวกับมนุษย์และธรรมชาติของมนุษย์ได้แก่ เรื่องราวเกี่ยวกับความรัก ความโกรธ ความเสียสละ มักมีภาพคนหรือมีส่วนประกอบของคนปรากฏร่วมอยู่ด้วยเรื่องราว ในภาพจะมีส่วนช่วยปลุกเร้าหรือโน้มน้าวให้เกิดความสนใจหรือมีความรู้สึกคล้อยตาม
2. บรรยากาศของภาพ (Atomosphere)
หมายถึงสิ่งแวดล้อมในภาพที่ช่วยเสริมแต่งให้การสื่อความหมายมีความสมจริง บรรยากาศในภาพจึงจำเป็นต้องพิจารณาให้สอดคล้องหรือกลมกลืนกับเรื่องราวที่สื่อถูกกำหนด ขึ้น
3. อารมณ์ของภาพ ( Mood )
ภาพที่ดีต้องมีผลทางใจหรือเร้าให้เกิดอารมณ์แก่ผู้ที่ได้เห็นเช่น ภาพบุคคลที่แสดงความดีใจ ความสุข ความเศร้า ความลำบาก ความเจ็บปวด จะต้องมีส่วนแสดงความรู้สึกให้ผู้ดูมีอารมณ์คล้อยตามได้เช่น ภาพที่แสดงความสดชื่นใครเห็นภาพแล้วก็ต้องมีความรู้สึกสดชื่น เป็นต้น
4. การจัดองค์ประกอบของภาพ (Composition)
หมายถึงการเลือกและจัดวัตถุให้น่าสนใจหรือมีจุดเด่นพร้อมทั้งจัดบรรยากาศโดยรอบให้อยู่ในพื้นที่ของภาพอย่างงดงาม โดยต้องคำนึงถึงองค์ประกอบของรูปลักษณะเส้น คุณค่าของแสงและเงา ช่วงระยะและสีให้มีคุณค่าทางสุนทรียศาสตร์คือ มีการเน้นจุดเด่นความสมดุล ความกลมกลืนและมีความแตกต่าง ภาพถ่ายที่มีการจัดองค์ประกอบถูกต้องตามหลักของศิลปะย่อมทำให้ภาพนั้นเด่นสะดุดตามีคุณค่ามีความงามตรงตามเรื่องราวและอาจน้อมใจของผู้ชมให้คล้อยตามอารมณ์ที่แสดงออกในภาพนั้นด้วย
  4.1 การเน้นจุดเด่นในการจัดองค์ประกอบของภาพ ต้องจัดให้ศูนย์กลางของความสนใจปรากฏในภาพถ่ายเด่นชัดสะดุดตากว่าส่วนประกอบมูลฐานอื่น การเน้นให้เกิดจุดเด่นอาจจะทำได้หลายวิธี เช่น การเน้นโดยการใช้สีให้เด่นเป็นพิเศษ การเน้นโดยใช้เส้น รูปร่างและขนาดให้ตัดกัน การใช้เส้นนำสายตาไปยังจุดเด่น ใช้รูปร่างลักษณะหรือขนาดให้ส่งเสริมไปยังจุดเด่น
  4.2 ความสมดุล เป็นการสร้างให้ภาพดูมีความสมดุล ดุลยภาพที่เหมือนกันทั้งสองข้างเห็นได้ง่ายๆ ในธรรมชาติ เช่น ใบหน้าของมนุษย์มีลักษณะซีกซ้ายและซีกขวาเหมือนกันความสมดุลชนิดนี้เหมาะสำหรับงานที่ต้องการให้ความรู้สึกทางความมั่นคง แลดูสง่าและเป็นทางการ
5. เทคนิคการถ่ายทำภาพ (Techniques of taking photograph)
หมายความถึงการเลือกใช้กล้องเลนส์และฟิล์มให้เหมาะสม ต้องรู้ถึงเทคนิคการใช้ชัตเตอร์ ไดอะแฟรม รู้จักวิธีการจัดและวัดแสง วิธีใช้แว่นกรองแสงหรือฟิลเตอร์ (filter) เทคนิคการทำภาพที่เป็นงานเกี่ยวกับเทคนิคการผลิตภาพในห้อง ปฏิบัติการหรือห้องมืด (dark room)
6. คุณภาพของภาพถ่าย (Quality of picture)
หมายถึงความถูกต้องและประณีตในการทำภาพ เช่น เลือกใช้เกรดกระดาษถูกต้องกับคอนทราสของเนกาติฟ เลือกใช้น้ำยาล้างฟิล์มให้เหมาะสม เทคนิคการอัดขยายถูกต้อง ภาพมีความสะอาดไม่มีจุดๆหรือรอยนิ้วมือมีรายละเอียดบริเวณสว่างและเงาชัดเจน มีความเปรียบต่างพอเหมาะเหมือนธรรมชาติมากที่สุด ถ้าเป็นภาพสีจะต้องมีการผลิตสี (Hue) ความอิ่มตัวของสี(Color saturation) และความสว่างของสี (Lightness) เหมือนวัตถุต้นแบบมากที่สุด การนำภาพถ่ายติดกรอบช่วยให้สีของภาพมีความอิ่มตัวและเห็นความเปรียบต่างสูงขึ้น ช่วยเพิ่มคุณค่าของภาพมากยิ่งขึ้น ภาพถ่ายที่มีทัศนมิติที่ถูกต้องจะช่วยเสริมความประทับใจให้เห็นภาพเหมือนจริงยิ่งขึ้น
แนวทางการถ่ายภาพเพื่อการโฆษณา
การถ่ายภาพโฆษณาคือ การถ่ายภาพของสินค้าหรือบริการที่ต้องการขายให้ เพื่อนำภาพถ่ายไปใช้โฆษณาหรือบริการนั้นๆ ให้ประชาชนทราบเพื่อให้รู้จัก การถ่ายภาพโฆษณาจึงเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความรู้ต่างๆ ทางด้านการถ่ายภาพมาผนวกกันเพื่อผลิตภาพให้ออกมาดีและเป็นภาพที่มีลักษณะสร้างสรรค์ แปลกใหม่อยู่ตลอดเวลา ภาพโฆษณามีหลายลักษณะ อาจเป็นภาพถ่ายเฉพาะสินค้าเป็นภาพของสินค้าที่กำลังมีผู้ใช้ เป็นภาพสินค้าที่มีอย่างอื่นประกอบเพื่อสร้างเรื่องราวให้มากขึ้น เป็นภาพถ่ายภายในสถานที่หรือภายในสตูดิโอตัวสินค้าและวัตถุประสงค์ของผู้ทำโฆษณาเป็นข้อกำหนดแนวทางของการถ่ายภาพเป็นประการแรก ประการต่อมาคือ ถ้าเป็นภาพที่จะนำไปพิมพ์โฆษณาขาวดำ ก็ควรถ่ายเป็นภาพขาวดำ ถ้าจะพิมพ์เป็นภาพสีก็จำเป็นต้องถ่ายเป็นภาพสไลด์สี ภาพโฆษณาที่จะนำไปพิมพ์ขนาดใหญ่ ซึ่งเมื่อขยายเป็นภาพใหญ่สำหรับพิมพ์แล้วคุณภาพของภาพยังคงสวยงามดีอยู่
                   รายละเอียดต่างๆ ดังกล่าวมานี้ก็เป็นแนวทางที่จะถ่ายภาพต่อไปโดยกำหนดว่าจะถ่ายในสถานที่หรือนอกสถานที่การถ่ายภาพประเภทแสดงตัวสินค้า เพื่อมุ่งหวังในคนรู้จักและจดจำสินค้าได้นี้ จะต้องถ่ายภาพในระยะใกล้และเน้นความสำคัญที่ตัวสินค้าให้เห็นอย่างชัดเจนมากที่สุด และวิธีการถ่ายภาพมักจะถ่ายทำในสตูดิโอถ่ายภาพซึ่งสามารถจัดแสงและจัดองค์ประกอบของภาพได้ดี    ภาพโฆษณาที่เกี่ยวกับตัวบุคคล หรือมีนายแบบ นางแบบอยู่ในภาพด้วย การถ่ายภาพประเภทนี้นอกจากทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏในภาพจะต้องเรียบร้อยสวยแล้วสิ่งสำคัญที่สุดคือ กิริยาทาทางของผู้เป็นแบบ และอารมณ์ความรู้สึกของคนในภาพ ซึ่งมีความสำคัญต่อตัวสินค้าที่จะโฆษณามากยิ่งกว่าสิ่งต่างๆ ที่ต้องจัดเตรียมอย่างละเอียดถี่ถ้วนเสียอีก อารมณ์ความรู้สึกของผู้เป็นแบบนั้นหากเป็นนายแบบหรือนางแบบอาชีพก็คงไม่ยาก เนื่องจากสามารถกำกับการแสดงออกได้ หากเป็นผู้ที่ไม่เคยผ่านงานด้านนี้มาก่อน การสร้างความสนิทสนมคุ้นเคยและการให้ความเป็นกันเองจะสร้างบรรยากาศในการทำงานให้ง่ายขึ้นมาได้

การถ่ายภาพโฆษณา
                ในการโฆษณาสินค้าต่างๆ โดยเฉพาะในหนังสือพิมพ์และนิตยสารมีการใช้ภาพถ่ายเพื่อให้เห็นลักษณะของสินค้าอย่างสมจริงสมจังเป็นจำนวนมากและใช้เทคนิคต่างๆ ในการถ่ายภาพเพื่อให้เห็นว่าสินค้าในภาพโฆษณานั้นน่าใช้และน่าเชื่อถือโดยอาศัยคุณสมบัติพิเศษต่างๆ ของอุปกรณ์ถ่ายภาพและการจัดแสงสีเข้ามาช่วยการโฆษณามีวัตถุประสงค์เพื่อจะขายสินค้าหรือบริการให้ได้มากที่สุดการโฆษณาสำหรับสินค้าหรือบริการนั้นต้องพยายามให้คนรู้จักสินค้าหรือบริการ หรือทำให้ผู้คนเห็นว่ามีคนอื่นใช้อยู่ เพื่อให้เกิดการเอาอย่าง ตลอดจนการพยายามให้เกิดการจำจำสินค้าหรือบริการ
                จากวิธีการที่จะโฆษณาให้ประสบผลดังกล่าว ผู้ที่จะทำโฆษณาประเภทที่มองเห็นด้วยตาให้ได้ผลดีว่าโฆษณาด้วยวิธีอื่น ซึ่งอาจบอกโดยการใช้คำพูดใช้ข้อความ ล้วนสามารถทำให้คนทราบเรื่องนั้นๆ ได้ แต่การทราบเรื่องดังกล่าวโดยการอ่านยังได้ผลน้อยกว่าการให้ทราบโดยการมองเห็นด้วยตามากกว่าการได้ยินด้วยหู การใช้ภาพถ่ายโฆษณาจึงเป็นวิธีโฆษณาที่ได้ผลดีกว่า
                เทคนิคการถ่ายภาพหลายประการช่วยให้การถ่ายภาพโฆษณาได้ดีขึ้นภาพถ่ายที่จะใช้ได้ดีในการโฆษณาต้องเป็นภาพที่เหมือนจริง เช่น ถ่ายทอดภาพสินค้าได้สวยงาม น่าชื้อ เทคนิคทางการถ่ายภาพสามารถสร้างสรรค์ขึ้นได้ สามารถเลือกใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสมเพื่อให้ได้ภาพที่ดี อาคารใหญ่โตควรใช้กล้องถ่ายภาพประเภทกล้องวิวถ่ายภาพออกมาจะได้ภาพที่โออ่า วัตถุขนาดเล็ก เช่น เครื่องประดับเพชรพลอยต้องใช้อุปกรณ์อีกแบบหนึ่ง
              การถ่ายภาพที่ผลิตขึ้นเพื่อการโฆษณา เป็นภาพถ่ายที่มีแนวคิดก้าวล้ำนำสมัยกว่าการประเภทอื่นๆ ต้องใช้เทคนิคและวิธีการที่แปลกใหม่อยู่ตลอดเวลา ผู้ที่มีฝีมือในการถ่ายภาพโฆษณามักเป็นผู้ที่ไม่หยุดนิ่ง มีการศึกษาค้นคว้าทดลองพยายามสร้างสรรค์งานให้แปลกใหม่อยู่เสมอ จึงเป็นผลสืบเนื่องไปถึงการใช้ภาพเพื่อการโฆษณาที่ได้ภาพที่สวยงาม แปลกตาน่าสนใจช่วยให้การโฆษณาเป็นไปอย่างได้ผล
                ภาพถ่ายเพื่อการโฆษณามีความสำคัญและจำเป็นต่อสินค้าและบริการ เพราะจะช่วยให้สินค้าและบริการเป็นที่รู้จัก โดยที่ผู้คนได้ทราบถึงคุณประโยชน์ความประทับใจ เชื่อมั่นที่จะชื้อ หรือจดจำสินค้าและบริการดังกล่าวเพราะได้เห็นภาพถ่ายในลักษณะเหมือนจริง ซึ่งก่อให้เกิดความรู้สึกว่าดูน่าเชื่อถือและสามารถพิจารณาได้โดยละเอียด รวมทั่งภาพถ่ายเพื่อการโฆษณาจะช่วยให้สินค้าหรือบริการนั้นดูดีน่าใช้เพื่อเพิ่มยอดขายให้สูงขึ้น

วัตถุประสงค์ของการการถ่ายภาพเพื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์
                ในการประกอบธุรกิจโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ไม่ว่าจะเป็นประเภทใด  ย่อมมีการกำหนดวัตถุประสงค์  ดังนี้
2.1      มีวัตถุประสงค์หลักคือ    ต้องการสื่อสารโดยทางตรงกับผู้รับสารและเข้าใจในวัตถุประสงค์ของการสื่อสารที่ตรงกัน
2.2    ต้องการให้หลักและทฤษฏีในการสื่อสารมั่นคง ถึงผู้ทุกคนที่เห็นหรือรับรู้ในข่าวสาร    ดังนั้นจึงต้องศึกษา วางแผนและกำหนดให้เป็นระบบระเบียบ   
               2.3    การยอมรับและชื่อเสียง ถ้ามีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก ย่อมได้รับความไว้วางใจจากผู้รับข้อมูลข่าวสารทั้งหมดหรือผู้บริโภค สร้างความรู้สึกที่ดีให้กับผู้ให้ข้อมูลข่าวสาร
2.4    ความอยู่รอดของธุรกิจต่าง ๆ ที่เป็นผู้ให้ข้อมูลข่าวสารหรือภาพ ต้องการผลตอบแทน คือ ความเชื่อมั่นของผู้รับสาร
บทบาทของภาพถ่ายต่อการโฆษณา
ภาพถ่ายที่มีบทบาทต่อการโฆษณา ภาพถ่ายนำไปใช้หลายลักษณะได้แก่
           1. ใช้ภาพถ่ายเป็นสื่อโฆษณา อัดขยายภาพให้มีขนาดต่าง ๆ โดยการใช้กระดาษอัดรูปขนาดโปสการ์ดจนถึงขนาด 1 x 10 เมตร
           2. ใช้สิ่งพิมพ์เป็นสื่อโฆษณา สิ่งพิมพ์ที่ลงโฆษณาในหนังสือ วารสาร นิตยสาร โบชัวร์โปสเตอร์ รวมถึงคัทเอาท์ขนาดใหญ่
           3. ใช้ตู้ไฟเป็นสื่อโฆษณา ใช้ตามศูนย์อาหาร ห้างสรรพสิ้นค้า ตู้ไฟจะใช้การอัดขยายภาพ จากฟิล์มเนกาตีฟลงบนฟิล์ม DURATRAN เป็นภาพโปร่งใส ใส่ไว้ในตู้ไฟมองเห็นได้ชัดเจนในที่มืด
           4. ใช้โทรทัศน์เป็นสื่อโฆษณา สิ้นค้าที่ถ่ายด้วยฟิล์มเนกาตีฟ หรือสไลด์สามารถนำเสนอเป็นภาพในจอโทรทัศน์ได้
ประเภทของภาพสินค้า
1. ภาพสินค้าโดด (Product Alone) คือ การออกแบบโฆษณาโดยใช้ภาพของสินค้าเพียงอย่างเดียว โดยมีข้อความโฆษณาประกอบได้บ้างตามสมควร วัตถุประสงค์ เพื่อให้มีลักษณะที่โดดเด่นเห็นได้ชัดเจน เป็นโฆษณาที่ออกแบบง่ายที่สุด ผู้ดูรู้ง่ายเข้าใจง่าย ว่าเป็นโฆษณาอะไรเพราะไม่มีสิ่งมาปะปนให้สับสน ยุ่งยาก 
                2. ภาพสินค้าพร้อมการตกแต่งประกอบ (Product in setting)
คือ การโฆษณาสินค้าพร้อม
องค์ประกอบอื่น ๆ เช่นฉากหลัง (Background) หรือส่วนประกอบอื่น ๆ ที่เหมาะสมกับสินค้านั้น วัตถุประสงค์ เพื่อเพิ่มบรรยากาศ เพิ่มความหมาย เพิ่มความประทับใจแก่ภาพที่โฆษณายิ่งขึ้น
3. ภาพสินค้าขณะถูกใช้ (Product in Use) คือ ภาพโฆษณาที่แสดงการใช้สินค้าเพื่อให้เห็นว่า
สินค้านั้นใช้อย่างไรวัตถุประสงค์ เพื่อเตือนใจให้นึกถึงสินค้า นึกถึงการใช้ เห็นประโยชน์จากการใช้ เร้าใจให้เกิดความต้องการซื้อ และการที่มีภาพคนกำลังใช้สินค้าหรือบริการช่วยเพิ่มความมีชีวิตชีวาให้แก่ภาพที่โฆษณายิ่งขึ้น      
4. ภาพแสดงปัญหาจากการที่ไม่ได้ใช้สินค้า (Problems) หรือ แสดงประโยชน์ที่ได้จากการใช้สินค้า (Users) คือ การใช้ภาพโฆษณาที่แสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดว่า ถ้าไม่ได้ใช้สินค้าหรือบริการที่โฆษณาจะเกิดผลเสียอย่างไร ถ้าได้ใช้สินค้าหรือบริการที่โฆษณาแล้วจะเกิดผลดีอย่างไร วัตถุประสงค์ เพื่อให้ผู้ดูรู้ง่ายเข้าใจง่าย แสดงผลให้เห็นได้ชัดเจน
5. ภาพประกอบพาดหัว (Dramatizing the Headline) คือ การเลือกใช้ภาพโฆษณาที่มีความ
เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับพาดหัวโดยตรง วัตถุประสงค์ เพื่อให้พาดหัวมีน้ำหนัก ได้ภาพพจน์ชัดเจน เชื่อถือได้ ชวนให้ติดตามอ่านเรื่องราวรายละเอียดต่อไป
 6. ใช้ภาพประกอบข้อความโฆษณา (Dramatizing the Caption) คือ การเลือกใช้ภาพโฆษณา
ที่มีความหมายเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับข้อความที่ใช้โฆษณาโดยตรง วัตถุประสงค์ เพื่อให้การโฆษณานั้นน่าสนใจ ได้ภาพพจน์ชัดเจน เข้าใจง่าย จำง่าย
7. ภาพแสดงคุณภาพของสินค้า (Testimonial) คือ การใช้ภาพที่แสดงให้เห็นคุณภาพของสินค้าโดยสามารถถ่ายทอดออกมาเป็นภาพให้เห็นได้อย่างเด่นชัด แทนที่จะใช้ข้อความโฆษณากล่าวถึงประโยชน์ลอย ๆ วัตถุประสงค์ เพื่อให้เป็นหลักฐานเสมือนประจักษ์พยานที่เชื่อถือได้ ยอมรับได้
8. ภาพแสดงเรื่องราวต่อเนื่องกัน (Continuous) คือ การโฆษณาที่ใช้ภาพต่อเนื่องกันเป็นขั้นเป็นตอน หรือเป็นฉาก ๆ อย่างมีโครงเรื่อง (Plot) ใช้ภาพวาดหรือภาพถ่ายก็ได้
9. ภาพขยายส่วนหนึ่งส่วนใดของสินค้าเป็นพิเศษ (Product Feature) คือ ภาพโฆษณาที่ประกอบด้วยส่วนที่เจาะจงขยายจุดที่ต้องการเน้นออกมาให้เด่นเป็นพิเศษ เพื่อให้สังเกตง่ายว่าแตกต่างจากสินค้าโดยทั่วไปอย่างไร วัตถุประสงค์ เพื่อให้เกิดความสนใจเป็นพิเศษ เป็นจุดจูงใจให้ตัดสินใจได้ง่ายเมือจะเลือกซื้อสินค้า
10. ภาพแสดงภาพพจน์ของสินค้า หรือภาพเทียบเคียง (Comparison) คือ การใช้ภาพโฆษณาที่แสดงภาพพจน์ของสิน้าว่าเปรียบเทียบเสมือนอะไรวัตถุประสงค์ เพื่อให้เข้าใจง่าย ได้ภาพพจน์ที่ชัดเจน
11. ภาพโฆษณาเปรียบเทียบ หรือภาพแสดงความแตกต่าง (Contrast) คือ การใช้ภาพโฆษณาเปรียบเทียบ แสดงให้เห็นความแตกต่างของสินค้าที่โฆษณากับสินค้าคู่แข่งขันว่าแตกต่างกันอย่างไร หรือใช้ เปรียบเทียบสินค้ายี่ห้อเดียวกันแต่ต่างยุคสมัยกัน เพื่อแสดงให้เห็นการพัฒนาของสินค้าว่าก้าวหน้าเพียงใด วัตถุประสงค์ เพื่อแสดงส่วนดีที่เหนือกว่าคู่แข่งขัน หรือสินค้าชนิดเดียวกันแต่แดสงให้เห็นว่ารุ่นใหม่ดีกว่ารุ่นเก่าอย่างไร
12. ภาพการ์ตูน (Cartoon) คือ ภาพที่เขียนขึ้นให้ดูผิดเพี้ยนเพื่อล้อเลียนธรรมชาติประชาชนโดยทั่วไปชอบการ์ตูนมาก โดยเฉพาะเด็ก ๆ วัตถุประสงค์ เพื่อให้การโฆษณาดูสนุกสนาน หรือตลกขบขัน ทำเรื่องยากให้ดูง่าย ๆ ไม่เคร่งเครียด เหมาะที่จะใช้โฆษณาสินค้าสำหรับเด็ก ๆ เป็นพิเศษ
13. ภาพฝัน หรือจินตนาการ (Fantasy) คือ ภาพที่เจาะจงสร้างขึ้นมาเพื่อให้แปลก พิสดารกว่าภาพโฆษณาทั่ว ๆ ไป โดยใช้เทคนิคในการผลิตหรือถ่ายทำ วัตถุประสงค์ เพื่อให้สะดุดตา น่าสนใจ ประทับใจ

ลักษณะของสินค้าที่ถ่าย
.         สินค้าที่นำมาถ่ายมีหลายลักษณะที่ต้องคำนึงได้แก่
           1. รูปทรง วัตถุแบน เช่นจาน เหรียญ หรือวัตถุที่มีมิติมีความสูง ทรงเหลี่ยมไค้งมน
           2. ขนาด สิ้นค้าบางชนิดมีขนาดเล็ก เช่น แหวน พระเครื่อง ขนาดกลาง เช่น กระเป๋า พัดลม ตู้เย็น  ขนาดใหญ่ เช่น รถยนต์ บ้าน ฯลฯ
           3. ผิว สิ้นค้าบางชนิดผิวมันวาว เช่น โครเมี่ยม บางชนิดโปร่งใสเช่นเคร่องแก้ว ต้องแก้ปัญา เน้นรูปทรงเป็นพิเศษ
           4. ความร้อนเย็น สิ้นค้าบางชนิดเช่น อาหาร ต้องการแสดงว่าร้อนน่ากิน อาจใช้ของปลอม สร้างควัน หรือสร้างหยดน้ำที่ตัวสิ้นค้าเพื่อให้เห็นว่าเย็นจนหยดน้ำเกาะ